คนในสังคมเรานั้น มีทั้งคนดีและคนเลว แล้วในส่วนของคนดีและคนเลวนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกได้ว่า คนดีคนนั้นดีมากดีน้อยแค่ไหนอย่างไร
และอีกเช่นกันในส่วนที่ว่าเลวนั้น เลวหมดเลยไม่เคยทำดีเลยหรือ แล้วมีการกระทำที่ดีๆ ของคนๆ นั้นบ้างไหม และนี่คือคำถาม สรุปแล้ว บางสิ่งบางอย่างที่เห็น มันอาจจะไม่สามารถที่จะสรุปออกมาได้ทันที เพราะภาพที่เห็นในขณะนั้น กับในส่วนลึกๆ หรือในภาพข้างหลังของเขานั้น อาจจะเป็นการกระทำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กับที่ได้เห็นในขณะปัจจุบันนั้นก็ได้ใครจะรู้ละครับ และก็อีกเช่นกัน บุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ หรือคุมขังเอาไว้ โดยกล่าวหาว่าได้ไปทำความผิดมานั้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาถูกกล่าวหาก็ได้ ตรงนี้มันต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนๆ นั้น
เสียก่อนๆ ที่จะตัดสินไปว่า เขาผิด
ก่อนที่จะเข้าถึงกระบวนการของการพิสูจน์ บุคคลที่ถูกจับ ผู้ต้องหา หรือว่าจำเลย ก็ควรที่จะมีสิทธิเต็มที่ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรงนั้นด้วย และก่อนที่จะถูกตัดสินด้วยคำพิพากษาจากศาลนั้น เขาก็ควรที่จะมีสิทธิ หรือใช้สิทธิในการ “เป็นผู้บริสุทธิ์” ไปจนกว่าศาลจะตัดสินนะครับ
ในส่วนของกฎหมายนั้น ก็ได้ให้สิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิสูจน์ตัวเองของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา หรือจำเลย รวมทั้งสิทธิในการที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยหลักหลายประการ ดังนี้
สิทธิของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ที่ถูกจับหรือขัง
1. มีสิทธิที่จะแจ้ง หรือขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ญาติ ให้เพื่อน หรือคนที่ไว้วางใจทราบ ถึงการถูกจับกุม รวมทั้งสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวไว้เด้วย
2. มีสิทธิที่จะพบ หรือขอปรึกษาทนายความของตัวเองเป็นการเฉพาะตัว
3. มีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยม หรือในการติดต่อกับญาติของตัวเองได้ตามสมควร
4. มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างคนปกติ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมา
นอกจากนี้ กฎหมายก็ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องแจ้งสิทธิต่างๆ ที่กล่าวมานั้นให้กับผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาได้ทราบถึงสิทธิของตัวเองที่มีด้วย
สิทธิของจำเลย
จำเลยนั้น ก็คือผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ที่ได้ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะส่งเรื่องหรือสำนวนคดีไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และเมื่อยื่นต่อศาลแล้ว ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ก็มีชื่อเรียกใหม่ว่า “จำเลย”
เมื่อกลายเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว จำเลยก็ยังจะมีสิทธิตามกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายประการ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อตัวจำเลยเอง และเป็นการสมควรที่จำเลยจะนำมาใช้ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง สิทธิที่ว่านี้มีอะไรบ้าง เรามาดูกัน
1. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือ จำเลยที่ถูกคุมขังไว้ หรือไม่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี เพราะในระหว่างที่คดียังไม่ถูกศาลตัดสิน ตัวจำเลยก็จะถูกคุมขังไป
จนกว่าศาลจะตัดสิน ซึ่งหากกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า นั้นก็หมายความว่า ตัวจำเลยก็จะต้องถูกคุมขังนานขึ้น ตามระยะเวลาของการพิจารณาคดีนั้นๆ เอง และหากสุดท้ายแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยไม่ได้ทำผิด แต่ว่าจำเลยก็ต้องคุมขังไปแล้ว และได้รับความเสียหายไปอย่างมากมายแล้วนั่นเอง
2. มีสิทธิที่จะแต่งตั้งทนายความ เพื่อต่อสู้คดี หรือแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้น ตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาได้
3. มีสิทธิปรึกษาทนายความ หรือผู้ที่จะเข้ามาเป็นทนายความของตัวเองได้ เป็นการเฉพาะตัวได้
4. มีสิทธิที่จะตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และขอคัดสำเนา หรือขอถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ ได้
5. มีสิทธิที่จะตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีของศาล รวมทั้งขอคัดสำเนาเอกสาร หรือขอรับสำเนาเอกสารที่รับรองโดยเจ้าหน้าที่ได้
6. มีสิทธิขอตรวจ หรือขอคัดสำเนาคำให้การของตัวเองในชั้นสอบสวน หรือขอเอกสารประกอบคำให้การของตัวเองได้
7. หากจำเลยได้แต่งตั้งทนายความของตัวเองไว้แล้ว ทนายความที่จำเลยแต่งตั้งนั้นก็มีสิทธิเช่นเดียวกับตัวจำเลยด้วย
สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า ทุกคนบริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะพิสูจน์ว่าเขาได้ทำความผิดจริงๆ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปด่วนสรุปเขาว่า เขาเป็นคนเลว
ขอขอบคุณบทความจาก
http://www.chawbanlaw.com